อีกหนึ่งความเชื่อของคนโบราณ ที่หลายบ้านยังคงยึดถือ คือเรื่องของต้นไม้อัปมงคล ที่ไม่ควรปลูกใกล้ตัวบ้าน เพราะเชื่อกันว่าจะนำพาสิ่งร้ายๆมาสู่ผู้อาศัย ไปจนถึงสร้างความร้าวฉานแตกแยกให้คนในบ้าน ต้นไม้ชนิดใดบ้างที่ไม่ควรปลูก ตามไปดูพร้อมๆกันได้เลยค่ะ
1. ต้นมะละกอ
ความหมายของชื่อ ที่เหมือนกับการเเตกแยกเป็นกอ เชื่อว่าหากปลูกไว้คนในบ้านจะอยู่ไม่เป็นสุข แตกแยกกัน ความเห็นไม่ตรงกัน มีเรื่องเบาะแว้งร่ำไป หากจำเป็นให้ปลูกไว้ที่รั้วบ้านดีกว่าค่ะ
2. ต้นชบา
ด้วยสีสันสวยงามสะดุดตาของดอกชบา ทำให้หลายคนอยากนำมาปลูกในบริเวณบ้าน แต่สำหรับความเชื่อของคนโบราณนั้น ต้นชบาเป็นอีกหนึ่งไม้อัปมงคล เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องร้ายๆ เช่น เป็นสัญลักษณ์ของการเล่นชู้ ผู้ที่ถูกจับได้ว่าเล่นชู้ ลักลอบได้เสียกันทั้งที่มีคู่ครองอยู่แล้ว จะถูกคล้องคอด้วยมาลัยดอกชบา เพื่อประจาน หรือใช้มาลัยดอกชบาคล้องคอนักโทษประหาร
3. ต้นงิ้ว
เป็นที่รู้กันดีว่า ตามความเชื่อแล้วผู้ที่ผิดศีลข้อ 3 ตายตกไปจะต้องลงนรก และถูกทรมานด้วยการปีนต้นงิ้ว ต้นไม้ชนิดนี้จึงเป็นไม้อัปมงคลที่ไม่ควรปลูกในบ้าน เชื่อว่าจะมีปัญหาเรื่องมือที่สาม สัญลักษณ์ของการมีชู้
4. ต้นเต่าร้าง
อาจเนื่องมาจากชื่อที่ไม่เป็นมงคล คนโบราณจึงเชื่อว่าสามีภรรยาคู่ใด ปลูกต้นเต่าร้างไว้ในบ้าน จะทำให้มีเรื่องบาดหมาง เรื่องที่ไม่เข้าใจ และต้องร้างลากันในที่สุด
5. ต้นนางแย้มป่า
มีเรื่องเล่าที่ค่อนข้างน่ากลัวเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนี้ ตามความเชื่อแล้วเป็นที่สิงสถิตของภูตผีปีศาจ หากนำมาปลูกในบ้าน จะทำให้เกิดเรื่องร้าย เจ็บไข้ได้ป่วย ทำร้ายรังแกผู้อาศัยให้อยู่ไม้เป็นสุข
6. ต้นระกำ
เนื่องจากชื่อที่มีความหมายไม่เป็นมงคลนัก จึงเป็นต้นไม้ที่ไม่นิยมปลูกในบ้าน เชื่อว่าจะนำความชอกช้ำ ปวดร้าว ระกำใจมาให้ผู้อยู่อาศัย
7. ต้นชวนชม
ชื่อฟังดูดี แต่กลับมีความหมาย 2 นัย ในแง่ดีคือจะมีคนชื่นชม นิยมชมชอบ เป็นที่รักของผู้คน แต่แง่ร้ายคือ เชื่อว่าหากปลูกไว้ในบ้านที่มีลูกสาววัยแรกรุ่น จะเกิดเรื่องเสื่อมเสีย ชักนำหนุ่มๆให้เข้าหา จึงไม่นิยมปลูกนั่นเอง
8. ต้นมะรุม
เนื่องจากชื่อของต้นมะรุมจะไปคล้องจองกับคำว่า มะรุมมะตุ้ม ซึ่งจะมีแต่เรื่องไม่ดีมารุมกระหน่ำเข้ามาจนอยู่ไม่เป็นสุข
9. ต้นรัก
แม้ชื่อจะฟังดูดีแต่ไม่นิยมปลูก เนื่องจากตามความเชื่อโบราณเชื่อว่า ต้นรักจะทำให้ความรักยุ่งยากขึ้น และกลายเป็นคนมากรัก
*เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน*